การดูแลผู้ป่วย
เนื่องจากเบาหวานและความดันสูงมีปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจึงมักจะมีความเสี่ยงความดันโลหิตสูงกว่าคนที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน
และในทางกลับกันผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคเบาหวานมากกว่า คนที่มีความดันโลหิตปกติ
ผู้ป่วยที่เป็นทั้งโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง จึงมีโอกาสที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจมากกว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงเพียงอย่างเดียว
เมื่อรู้ตัวว่าเป็นเบาหวานและมีโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วยแต่ไม่รับการรักษา ทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาได้ ซึ่งสาเหตุของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่า 90% เกิดจากโรคความดันโลหิตสูง ทำให้ความดันในหลอดเลือดแดงสูงขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายทำงานหนักและหนาตัวขึ้น เลือดดีจากปอดและหัวใจห้องบนซ้ายไม่สามารถไหลลงหัวใจห้องล่างซ้ายได้ ส่งผลทำให้หัวใจโตและเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ในที่สุด
จริง ๆ แล้วการมีไขมันในเลือดสูง ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมากมายเต็มไปหมด ยิ่งระดับไขมันในเลือดมีมากแค่ไหนโอกาสที่จะเกิดหลอดเลือดตีบตันยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ใช้ไปเลี้ยงหัวใจ เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจส่วนนั้นก็จะตายเฉียบพลัน ส่งผลกระทบไปอีกหลาย ๆ ส่วน เช่น สมองขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือที่ร้ายแรงที่สุดคือเสียชีวิต
ในผู้ป่วยเบาหวานแต่ละรายจะแสดงอาการให้เห็นแตกต่างกัน เช่น
- เจ็บกลางหน้าอกบริเวณเหนือลิ้นปี่ขึ้นมาเล็กน้อย
- เจ็บแบบจุกแน่น คล้ายมีอะไรมาบีบหรือกดทับไว้ ซึ่งอาการเจ็บมักลามไปที่คอหรือขากรรไกร บางทีก็ลามไปจนถึงไหล่ซ้าย ความเจ็บในรูปแบบนี้มักเป็นมากขณะออกกำลังกายหรือทำงาน
- โดยจะเจ็บอยู่นานครั้งละ 2-3 นาที ถึงค่อยดีขึ้น
- มีอาการเหงื่อแตก , หน้าซีด คล้ายจะเป็นลม มีออาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยได้
สังเกตได้ว่า โรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับหัวใจ มักมีจุดเริ่มต้นเดียวกัน คือ โรคเบาหวาน หากคุณเป็นโรคเบาหวานอยู่และหมั่นดูแลคอยควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ โรคเหล่านี้ก็สามารถควบคุมได้ เพราะฉะนั้นเป็นเบาหวานไม่เบาใจเด็ดขาดนะคะ เรียนรู้และเข้าใจไปด้วยกันกับ โครงการ For Your Sweetheart